วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ผู้นำเสนอ, ผู้วิจารณ์ และ ผู้แทงข้างหลัง บน โซเชี่ยลมีเดีย

คยมีคนบอกว่าบางคนที่ขยันทวิตหรือขยันอัพสเตตัสบนเฟซบุคนั้นในชีวิตแบบออฟไลน์แล้วไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ซึ่งบอกตามตรง ไอ้บางคนนี่มันคงต้องนับรวมผมไปด้วยอย่างแน่นอน

คุณอาจจะไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมกับผมก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าสนใจก็อ่านต่อนะครับ

ต้องถามก่อนเลย คุณเป็นคนจำพวกที่ไม่ต้องมีใครยอมรับก็ได้หรือเปล่า? แบบใช้ชีวิตไปวันๆ ไม่ต้องมีคนยอมรับตัวตน ไม่ต้องให้คนอื่นเห็นความสำคัญ ผมว่าน้อยคนที่จะเป็นแบบนั้น  หลายคนต้องการเพื่อน, ต้องการสังคม และไม่ต้องการที่จะอยู่คนเดียว คุณยอมไปแฮงก์เอาท์กับเพื่อนทั้งๆที่ฝืนใจหรือเปล่า? ถ้าใช่คุณเองก็ต้องการการยอมรับว่าเป็นเพื่อนกับคนอื่น แต่ก็มีบางคนที่อึดอัดเมื่ออยู่ในวงเหล้า วงปาร์ตี้ และสบายใจที่จะใช้เวลาอยู่กับตัวเองสินะ

ในสมัยที่อินเตอร์เน็ตยังไม่เจริญ (ก่อนปี 1995) นั้น คนเราคบหากันด้วยการพบหน้ากันหรือโทรศัพท์หากัน แต่หลังจากอินเตอร์เน็ตเข้ามา เราเริ่มมี "สังคมบนเน็ต (โซเชี่ยลมีเดีย)" เราเริ่มรับข่าวสารในแบบที่ไม่ได้ถูกจำกัดแค่รายการทีวี, รายการวิทยุ และสิ่งพิมพ์อีกต่อไป และเกิดพื้นที่ "แสดงตัวตน" ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการทำเว็บไซต์หรือการเขียนblogจนคนบางคนไม่จำเป็นต้องออกไปเจอหน้ากันบ้างแล้ว และสามารถนำเสนอแนวคิวได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อทีวี เพราะเรานำเสนอบนพื้นที่ของเราเอง จนบางครั้งกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนบางคนไม่ยอมออกจากบ้านเป็นฮิคิโคโมริที่ข้าเก่งในเน็ต แต่ข้าไม่ออกไปเจอแกนอกบ้านหรอก

  ต่อมาเมื่อสิ่งที่เรียกว่า "สมาร์ทโฟน" เข้ามาในชีวิตเราเมื่อไม่ถึง 10 ปีมานี้ เราก็เริ่มที่จะ "อยู่ในสังคมบนเน็ตในทุกๆที่ (ที่ไวไฟและสามจีเข้าถึง) " กล่าวคือ "พื้นที่ของเราเอง" ที่แต่ก่อนต้องอยู่หน้าจอคอม ก็ย้ายมาอยู่บนหน้าจอสมาร์ทโฟนแทน จากการหมกตัวในบ้านก็กลายเป็นว่าแม้จะอยู่ข้างนอกเราก็ขังตัวเองอยู่ในหน้าจอสมาร์ทโฟนได้ จนเริ่มถูกคนอื่นประชดว่าเป็นสังคมก้มหน้ากันไปแล้ว

คนที่ไม่เคยก้มหน้าเขาคงไม่เข้าใจว่าทำไม คนก้มหน้าถึงเสพย์ติดขนาดนี้

โซเชี่ยลมีเดียนั้น กลายเป็นพื้นที่ที่คุณไม่ต้องอดทนกับการเข้าสังคมแบบฝืนๆ (ถ้าคุณฝืนล่ะนะ) คุณสามารถติดต่อกับใครก็ได้แม้ไม่เคยเจอหน้ากันเลยก็ตามที คุณสามารถบอกคนอื่นได้ว่าตอนนี้คุณคิดอะไรอยู่ โดยมีความแฟร์คือ เมื่อใครสักคนไม่พอใจในสิ่งที่คุณคิดเขาก็สามารถคอมเมนต์คุณกลับได้ หรือแสดงความพึงพอใจในสิ่งที่คุณนำเสนอด้วยการกด Like หรือ Retweet นั่นจะตอบโจทย์ในใจว่า "มีคนเห็นด้วยกับเรา มีคนไม่เห็นด้วยกับเรา เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในโลก (อย่างน้อยๆ ก็ในด้านความคิดล่ะนะ)" 

บางคนได้รับการยอมรับมากๆ เข้า ก็กลายเป็นเน็ตไอดอล เป็นเซเลป (คนดัง)ในวงการเน็ตไปเลยก็มี ซึ่งก็มีทั้งคนที่คนอื่นชูให้ บางคนก็ชูตัวเอง จนบางทีก็ดูเละเทะไปก็มี ซึ่งจริงๆ เน็ตไอดอลไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชี้นำสังคมหรอกนะ แต่คนที่ยอมรับพวกเขากลับมองว่า "เน็ตไอดอลและเซเลปเป็น trend setter ให้กับโลกเน็ต" ซึ่งเมื่อเซเลปแสดงความคิดเห็นใดๆ ก็จะมีคนทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และถูกวิจารณ์ได้ว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ทั้งที่เบื้องต้นแล้ว เน็ตไอดอลหรือเซเลปหรือคนธรรมดาก็แค่ทำเหมือนเดิมคือ นำเสนอสิ่งที่คิดหรือ อัพเดทสเตตัสของตัวเองเท่านั้นแหละ

หลายคนอาจไม่ได้มาเขียนก็เป็นสายติดตาม การฟอลโลว์คนดังส่องดูชีวิตเขาก็เป็นอีกช่องทางนึงในการเสพย์ บางคนก็เสพย์ในสิ่งที่ "สื่อเดิม" เสนอไม่ได้ เพราะติดตามเฉพาะทางเกินไป ในสายตามเองก็มีสายแซว, สายแขวะ บางคนก็แซวขำๆ บางคนก็แค่พูดถึงบวกวิจารณ์บ้าง แต่บางคนที่มองว่า "การแซว" เป็นการทำร้ายคนดังผมคิดว่า บางทีคนที่วิจารณ์คนที่แซวอีกที ตัวเขาเองอาจไม่เคย "แซวคนอื่น" หรอก แต่ถนัด "การแทงข้างหลัง+ รอซ้ำเติม,รอทำร้ายคนอื่นลับหลัง"   พวกนี้บางทีก็จับกลุ่มรวมหัวเป็น "สังคมนินทา" เพราะทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะโต้เถียงกัน แต่บางคนก็เลือกที่จะไม่แสดงความคิดเห็นในที่แจ้ง แต่แอบเอาไปด่าทอกันที่อื่นต่อ เป็นอีแอบที่เก่งในบ้านเล็กในจอสมาร์ทโฟนอีกที 

บทความ หรือ สเตตัส หรือ ข่าว ทุกคนมีสิทธิ์ทำได้เท่าเทียมกัน แต่จำนวนคนยอมรับอาจแตกต่างกันตามแต่สิ่งที่ทำสะสมมา คนที่สังคมในเน็ตยอมรับก็ไม่ใช่ว่าจะสั่งสมในวันเดียวหรอก แต่ไอ้คนที่บ่อนทำลายคนอื่นนี่สิ เวลาด่าเขาก็ไม่กล้าออกมาด่าตรงๆ ไม่ได้สร้าง "ตัวตนให้คนยอมรับ" แท้ๆ ริอ่านจะมาทำลายกันนี่มันก็นะ

ไปสร้างพื้นที่และขอบเขตการยอมรับของตัวเองก่อนดีกว่ามั้ยครับ?

เผื่อว่าเวลาคุณเห็นต่าง แล้วคนไม่ยอมรับคุณจะได้โดนคนวิจารณ์ในการกระทำของคุณเองบ้าง